วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

ศรคีรี ศรีประจวบ - ตำนานลูกคอ 7 ชั้น
สงอม ทองประสงค์ หรือ ศรคีรี ศรีประจวบ  เกิดวันที่ 4 มีนาคม 2487 ที่บ้านเลขที่ 13 บ้านหนองอ้อ ต. บางกระบือ อ.บางคณที จ.สมุทรสงคราม มีชื่อเล่นว่าน้อย เป็นบุตรนายมั่ง นางเชื้อ ทองประสงค์ ครอบครัวมีอาชีพทำน้ำตาลปี๊บมีพี่น้อง 6 คน เขาเป็นคนสุดท้อง เรียนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนพรหมสวัสดิ์สาธร 




หลังจบการศึกษาก็มาช่วยครอบครัวปาดตาล (มะพร้าว) โดยระหว่างที่ พักเหนื่อยอยู่บนยอดมะพร้าวก็มักจะร้องเพลงอยู่บนนั้น จนหายเหนื่อยแล้วค่อยทำงานต่อ เพลงที่ชอบร้องก็มี "เสือสำนึกบาป" , "ชายสามโบสถ์" เพราะตอนนั้นเพลงของคำรณ สัมบุณนานนท์ กำลังฮิต ตอนนั้นเขาอยากเป็นนักร้องใจแทบขาด เวลาวงดนตรีของครู พยงค์ มุกดา มาแสดงใกล้บ้าน เขาก็ไปสมัครร้องเพลง แต่พอร้องให้ครูพยงค์ฟัง แกก็บอกว่าให้ไปหัดร้องมาใหม่ เขาพยายามอยู่ 2 ครั้ง ครูพยงค์ก็บอกว่ายังไม่ดี เขาเลยท้อและเลิกไปเอง จากนั้นพออายุ 20 ปี บวชได้พรรษาหนึ่งก็สึก ตอนนั้นพ่อแม่เขาไปซื้อไร่ทำสัปปะรดที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขาก็เลย ย้ายไปที่นั่น

แต่ประวัติอีกกระแสบอก ว่า เพราะรักครั้งแรกเป็นพิษขณะที่บวช เมื่อว่าที่พ่อตาให้ลูกสาวแต่งงานกับชายอื่น เขาจึงเตลิดหนีออกจากบ้านมาอยู่กับพี่ชายที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยพี่ชายแบ่งไร่สับปะรดให้ทำ

จะอย่าง ไรก็ตาม ที่นี่ เขาได้เริ่มร้องเพลงอีกครั้ง โดยเข้าประกวดร้องเพลงตามงานวัด และคว้ารางวัลมากมาย จนเพื่อนชื่อ พยงค์ วงศ์สัมพันธ์ ชวนให้ร่วมวงที่เช่าเครื่องดนตรี และจ้างครูดนตรีจากที่ค่าย "ธนะรัชต์" มาสอน เพื่อสร้างความสนุกในหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อคนรู้จักมากขึ้น จึงตั้งวง "รวมดาววัยรุ่น" ที่ต่อ มาเปลี่ยนชื่อเป็น "รวมดาวเมืองปราณ" รับงานแสดงทั่วไปตามบ้านที่ขายสับปะรดได้โดยไม่คิดเงินทอง ตอนนั้นศรคีรีร้องเพลงแบบรำวง และใช้ชื่อ "พนมน้อย" เพราะร้องเพลงของ พนม นพพร และศักดิ์ชาย วันชัย ต่อมาได้นำวงมาแสดงในงานปีใหม่ของจังหวัด "ประหยัด สมานมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ฟัง เสียง และเห็นหน้าก็รักใคร่ชอบพอ จึงเปลี่ยนชื่อให้เป็น ศรคีรี ศรีประจวบ

หลังจากนั้น วิจิตร ฤกษ์ศิลป์วิทยา คนอยู่ใกล้บ้านกันให้การสนับสนุนเพื่อสร้างวงดนตรีแข็งแรงขึ้นและพากันเข้า กรุงเทพฯ เพื่อเช่าเวลารายการวิทยุยานเกราะจาก จำรัส วิภาตะวัธ พวกเขาวิ่งขึ้นล่องกรุงเทพฯ - ประจวบฯอยู่บ่อยๆ และก็ได้พบกับ เพลิน พนาวัลย์ ที่พาเขาไปพบ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ที่บ้าน ตามคำขอร้องของศรคีรี เพื่อขอเพลงมาร้อง

ภูพาน เพชรปฐมพร นักร้องที่ใกล้ชิดกับศรคีรีในวง “ รวมดาววัยรุ่น “ เล่าว่า ตอนไปขอเพลง ตอนนั้นครูมีนักร้องที่ดังมากคือ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ เป็นลูกศิษย์เอกอยู่ ศรคีรีก็ร้องเพลงแนวเดียวกันกับรุ่งเพชร ครูไพบูลย์ก็จึงไม่ให้เพลง เขาจึงต้องเทียวไปเทียวมาอยู่หลายครั้ง จนครูใจอ่อน ประกอบกับตอนนั้นครูไพบูลย์ ผิดใจกับรุ่งเพชรด้วย

เพลงแรกที่ได้มาคือ น้ำท่วม ตอนที่บันทึกเพลงนี้ น้ำเกิดท่วม จ. ประจวบคีรีขันธ์พอดี เสียหายอย่างมาก สับปะรดถูกน้ำท่วมทั้งหมด นอกจากนั้น ครูก็ยังให้เพลงมาอีก 3 เพลง คือ"บุพเพสันนิวาส" , "แม่ค้าตาคม" , "วาสนาพี่น้อย" สำหรับการบันทึกเสียงครั้งแรกนั้น ชุดแรกมีทั้งหมด 6 เพลง คือ น้ำท่วม, บุพเพสันนิวาส, วาสนาพี่น้อย, แม่ค้าตาคม, พอหรือยัง และบางช้าง งานนี้ ศรคีรี เปลี่ยนสภาพจากนักร้องเพลง รำวง มาเป็น นักร้องเพลงหวานโดยสมบูรณ์

หลังจากเพลงเริ่มเป็นที่รู้จัก ศรคีรีลงมาอยู่กรุงเทพฯ แต่ยังไม่นำวงดนตรีมาด้วย โดยจะนำมาก็แต่เมื่อมีงาน ครั้งแรกในกรุงเทพฯ เขาเปิดการแสดงงานศพน้องชายครูไพบูลย์ที่วัด หลักสี่ บางเขน จากนั้นวงก็เริ่มรับงานในกรุงเทพฯ และเดินสายทั่วประเทศ ซึ่งในการออกเดินสายใต้เป็นครั้ง แรก วงประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จัดว่าเป็นวงที่มีค่าตัวแพงวงหนึ่ง ช่วงนั้นศรคีรีได้มีโอกาสแสดงหนังของ ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ เรื่อง "มนต์รักจากใจ" ด้วย

ต่อมาศรคีรีมีชื่อเข้าไปพัวพันคดีสังหารคนในวงการด้วยกัน ชื่อเสียงจึงตกลงไปบ้าง แต่ในที่สุดก็พิสูจน์ตัวเองได้ และกลับมาอีกครั้งในเพลง "ตะวันรอนที่หนองหาร" "อยากรู้ใจเธอ" รักแล้งเดือนห้า" "ลานรักลั่นทม" และ "คิดถึงพี่ไหม" ซึ่งเพลงหลังนี้ ขณะบันทึกเสียงศรคีรีร้องโดยปิดไฟมืด ซึ่งเขาไม่เคยทำมาก่อน เพลงนี้แต่งโดย พยงค์ มุกดา โดย ทิว สุโขทัย เคยร้องไว้เป็นคนแรกและเสียชีวิตไปหลังจากที่ร้องไว้ไม่นาน และเพลงนี้ก็เป็นเพลงสุดท้ายที่ศรคีรีได้บันทึกเสียงไว้ด้วย

ก่อนเสียชีวิต ศรคีรีเคยไปทำการแสดงที่โรงหนังเอกมัยราม่า มีคนนำเอาพวงมาลัยดอกไม้สด แต่คาดด้วยผ้าดำแบบที่ทำไว้สำหรับคนตายมอบให้บนเวทีขณะร้องเพลง ศรคีรีรับไว้ด้วยความเกรงใจ เมื่อกลับเข้าหลังเวที ศรคีรีสั่งเลิกการแสดงคืนนั้นทันทีทั้งที่ร้องเพลงได้เพียง 5 เพลง

ด้วยวัยแค่ 32 ปี ศรคีรี ศรีประจวบ จากโลกนี้ไปเมื่อ 30 มกราคม 2515 ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน ประมาณ 03.00 - 05.00 น.บริเวณริมถนนสายเอเชีย อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ขณะเดินทางกลับจากการแสดงที่วัดหน้าพระธาตุ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์เข้ากรุงเทพฯ เพื่อเปิดทำการแสดงที่วัดภาษี เอกมัย ในตอนค่ำ คาดว่าคนขับรถของศรคีรีเกิดง่วงนอน จึงจอดรถเก๋งโตโยต้าคราวน์ข้างทางเพื่อพักสักงีบ แต่ปรากฏว่ารถบรรทุกไม้ วิ่งมาด้วยความเร็วสูงประกอบกับบริเวณนั้นเป็นสะพานสูง เมื่อรถบรรทุกไม้วิ่งมาด้วยความเร็ว เมื่อถึงสะพานก็ทำให้รถกระโดดเสียหลัก ขึ้นไปทับรถของศรคีรี ทำให้เขาเสียชีวิตคาที่

หลังแสดงวันนั้น ลูกวงได้ออกเดินทางมายังจุดนัดพบที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งก่อน แต่หลังจากที่ลูกวงรออยู่นาน หัวหน้าวงยังเดินทางมาไม่ถึง จึงออกเดินทางต่อ แต่วิ่งไปสักระยะหนึ่ง ก็มีรถพลเมืองดีวิ่งไล่ตามและเรียกให้จอด เพื่อแจ้งข่าวเรื่องการประสบอุบัติเหตุของรถของศรคีรี หลังพบใบปลิวการแสดงปลิวออกจากรถศรคีรีเกลื่อนกลาด หลังรถบัสวิ่งกลับไปก็พบศพดังกล่าว ข้อมูลบางแหล่งบอกว่า ศรคีรี เสียชีวิตประ มาณ 8.00 น.ซึ่งเวลาดังกล่าวน่าจะเป็นเวลาพบศพมากกว่า

ก่อนเสียชีวิต ศรคีรี สมรสแล้ว โดยมีบุตรธิดารวม 3 คน เป็นชาย 2 หญิง 1 ชื่อ สมศักดิ์ ,ชนัญญา และสันติ


ครูไพบูลย์ บุตรขัน เคยเขียนไว้อาลัยการจากไปของศรคีรีว่า "แด่สุดรัก เธอเกิดมาเป็นผู้กล่อมโลก ฉันเป็นผู้ถ่ายทอดอารมณ์ บัดนี้เธอจากโลกไปแล้วเหลือเพียงเสียงเพลง ศรคีรี ศรีประจวบ ฉันเสียดาย เสียดายจริงๆ เพราะเธอควรจะอยู่กล่อมโลกให้นานกว่านี้ "

เพลง ที่เอามาให้ฟังวันนี้มีชื่อว่า " พอหรือยัง" ประพันธ์คำร้อง ทำนองโดยครูชลธี ธารทอง คนเมืองชลเช่นเดียวกับผม ที่ต่อมาได้รับสมญาว่า " เทวดาเพลง" เพราะในยุครุ่งเรือง ไม่ว่าแต่งเพลงอะไร ดังเกือบทั้งหมด สำหรับเพลงนี้ มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจมาก แทบจะนำไปสร้างเป็นนิยายชั้นดีได้เลยทีเดียว เพราะมีทั้งการชิงรักหักสวาท โชคชะตาชีวิต การคดโกง การหักหลังเพื่อน แต่สุดท้ายก็จบลงแบบ แฮปปี้เอนดิ้ง

ชลธี ธารทอง เข้าสู่วงการลูกทุ่งเพราะร้องเพลงเพราะ และชอบร้องเพลง ไปๆมาๆเขาก็ได้มาเป็นนักร้องประจำวง" รวมดาวกระจาย " ของครูสำเนียง ม่วงทอง (ผู้ประพันธ์เพลง " แอบรักแอบคิดถึง" ที่ต่าย อรทัย นำกลับมาร้องใหม่และกำลังดังอยู่ในปัจจุบัน) ชลธี ธารทองมีโอกาสบันทึกแผ่นเสียงอยู่ 4 เพลง แต่ไม่ดังสักเพลง แต่ระหว่างที่เป็นนักร้องอยู่นั้น เขาก็หัดการแต่งเพลงไปด้วย โดยสอบถามเอากับหัวหน้าวงอย่างครูสำเนียง

ระหว่างที่อยู่กับวง ชลธี ธารทอง ไปปักใจสมัครรักใคร่กับนักร้องสาวร่วมวงอีกคน ซึ่งเมื่ออยู่ต่อหน้าเขา เธอก็ดูเหมือนว่าจะมีใจให้กับเขาเช่นกัน ทำให้หนุ่มชลธีดีอกดีใจอยู่ไม่น้อย แต่หลังจากที่พบความจริงว่า จริงๆแล้วเธอหลอกเขา เพราะเธอแอบไปควงกับนักร้องในวงอีกคน ชลธีเสียใจอย่างมาก และแอบไปนั่งร่ำสุราบานเคล้าน้ำตา พร้อมกับแต่งเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่งที่พูดถึงความเจ็บช้ำในครั้งนี้ ซึ่งเพลงนั้นก็คือเพลง "พอหรือยัง"ชลธี ธารทอง



เมื่อ แต่งเสร็จ และเหล้าหมด เขาก็กลับเข้าห้องพักในโรงแรม และได้ร้องเพลงนี้ระบายความเสียใจ เสียงเพลงของเขาก็ไปแทงใจสาวเจ้าที่พักอยู่ในห้องข้าง เธอจึงนำเรื่องไปฟ้องครูสำเนียงเรื่องที่ชลธี ธารทอง แต่งเพลงด่าทอเธอ แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด

ต่อมา นักร้องร่วมวงอีกคนหนึ่งเกิดมาได้ยินชลธี ธารทอง นำเพลงนี้มาร้องเล่นในยามว่าง จึงขอเพลงนี้เพื่อนำมาร้องที่หน้าเวที ซึ่งเขาก็อนุญาต และเพื่อนคนนี้ก็เคยได้รับรางวัลจากแฟนเพลงที่มาชมการแสดงจากการขับร้องเพลง " พอหรือยัง " ด้วย

ต่อมา นักร้องคนดังกล่าวออกไปอยู่กับวงดนตรีของศรคีรี ศรีประจวบ และเมื่อศรคีรี ซึ่งกำลังจะเริ่มดัง จากการปลุกปั้นของครูไพบูลย์ บุตรขัน ได้ฟังเพลงนี้ ก็เกิดชอบใจอยากจะนำมาร้องบันทึกเสียงบ้าง เมื่อสอบถามว่าเป็นผลงานการแต่ง ของใคร นักร้องคนดังกล่าวก็โกหกว่าเขาเป็นคนแต่งเอง

ศรคีรี ศรีประจวบ นำเพลงนี้มาบันทึกแผ่นเสียง โดยใช้ชื่อตัวเองว่าเป็นคนแต่ง เนื่องจากมีคนแนะนำว่า เขาน่าจะสร้างเครดิตให้กับตัวเอง เพราะตัวคนแต่งจริง (ซึ่งก็คือเจ้านักร้องคนนั้น) ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร และก็ไม่น่าจะมีชื่อเสียงอะไรอีกในอนาคต

แต่หลังจากที่เพลงนี้ดังขึ้น ชลธีก็จึงได้รู้ว่าเพลงของเขาถูกขโมย และไปร้องเรียนเอากับศรคีรี หลังจากที่เรียกเอาฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาสอบถาม เขาก็จึงได้รู้ความจริง จึงมีการขอโทษขอโพย และตอบแทนกันตามธรรมเนียม ซึ่งต่อมา ชลธีและศรคีรี ก็กลายเป็นเพื่อนซี้กันในที่สุด

นี่คือเพลงๆแรกของชลธี ธารทอง ที่ถูกนำไปบันทึกเสียง แต่มันก็ทำให้เขาต้องเริ่มกลับมานั่งคิดว่า จริงๆแล้ว เขาเหมาะสมกับงานไหนแน่ ระหว่างนักร้อง ที่พยายามมาหลายปี แต่กลับไม่ดัง กับนักแต่งเพลงที่ถูกนำไปบันทึกเสียงครั้งแรกและดังทันที

แต่ ถึงเพลงนี้จะดัง ชีวิตของชลธี กลับไม่ได้ดีขึ้น เพราะต้องไม่ลืมว่า บนแผ่นเสียงระบุว่าเพลงนี้เป็นผลงานการแต่งของศรคีรี และบางคนก็พาลคิดไปว่า มันเป็นผลงานของครูไพบูลย์ บุตรขัน ครูเพลงคู่บุญของศรคีรี เครดิตของเขาจึงไม่มี เพลงก็ขายไม่ค่อยได้ เป็นนักร้องก็ไม่ดัง แต่ขณะที่ชีวิตกำลังตกอับอย่างสุดๆอยู่นั้น เขาก็ได้เจอกับศรคีรีอีกครั้ง และศรคีรี ออกปากให้เขาแต่งเพลงมาให้อีก

หลังจากที่ชลธีบรรจงแต่งให้ สองเพลง และหวังเต็มที่ที่จะได้รับค่าแต่งเพลงก้อนงามๆอีกสักครั้ง แต่ยังไม่ทันที่จะนำไปเพลงไปเสนอ เขาก็ได้รับข่าวเศร้านั่นก็คือศรคีรี ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต ชลธีที่ผิดหวังกับชีวิตในวงการเพลงของเขามาก ตัดสินใจทันทีว่าจะกลับไปใช้ชีวิตเป็นชาวไร่ชาวนาที่บ้านนอก จึงนำ 2 เพลงนี้ไปให้กับเด็กที่ทำงานอยู่ปั้มน้ำมันคนหนึ่งและอยากเป็นนักร้องแบบไม่ คิดค่าเพลง
สองเพลงนี้คือเพลง " ลูกสาวผู้การ " และ" แหม่มปลาร้า " และเจ้าหนุ่มคนนั้น ต่อมามีชื่อเสียงระเบิดระเบ้อทั่วฟ้าเมืองไทย ทุกคนรู้จักเขาในชื่อ " สายัณห์ สัญญา "


เรียบเรียงจากหนังสือ " เทวดาเพลง " ของชลธี ธารทอง


เพลง พอหรือยัง


คำร้อง/ทำนอง ชลธี ธารทอง
ขับร้อง ศรคีรี ศรีประจวบ


พอทีนะคุณ การุณผู้ชายเถิดหนา
อย่าคิดเอาความโสภา พร่าหัวใจผู้ชาย
คุณสวยคุณเด่น ใคร เห็นเป็นต้องงมงาย
อดรัก คุณนั้นไม่ได้ ยอมตายแทบ เบื้องบาทคุณ
คุณฆ่าผู้ชาย ให้ตายมาแล้วมากล้น
ไม่พ้นไปได้สักคน หน้ามลช่างไม่การุณ
อีกซักเท่าไหร่ ถึงจะพอใจของคุณ
ผู้ชาย ทั้งโลกคงวุ่น
เสน่ห์ของ คุณนั้นแรงเหลือเกิน
หรือ ถือว่าสวย หรือถือว่ารวยสูง ด้วยยศศักดิ์
วันหนึ่งถ้า ปีกหงส์หัก
แล้วคุณจะสิ้น คนสรรเสริญ
สิ้นสาวคราวใด ใครๆเขาก็คงเมิน
แล้วคุณจะไร้ดินเดิน
มัวหลงเพลินแต่คำป้อยอ
คุณคงภูมิใจ ที่ใครพากันรุมรัก
แต่แล้วก็ต้องอกหัก เพราะหลงรักคุณนั่นหนอ
คุณ คิดแจกจ่าย หัวใจไม่รู้จักพอ
ผลกรรมที่คุณนั้นก่อ
สักวันเถิดหนอคุณจะร้องไห้



 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น